โครงการโรงงานสีขาว
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ในการตรวจคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเพื่อให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการป้องกันและแก้ไขยาเสพติด รวมทั้งให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2543 จึงเห็นควรดำเนินการโครงการโรงงานสีขาวเพื่อป้งกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ใช้แรงงาน พร้อมรับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับการบำบัดรักษาดังกล่าวกลับเข้าทำงานเหมือนเดิม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงานมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติด
2. เพื่อไม่ให้ยาเสพติดแพร่ขยายเข้าไปในสถานประกอบกิจการ
3. เพื่อให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงานนำความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่สังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของนายจ้างและผู้ใช้แรงงาน
4. เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ติดยาเสพติดได้มีโอกาสได้บำบัดรักษาและฟื้นฟูให้หายจากการติดยาเสพติดและสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ
5. เพื่อให้สถานประกอบกิจการได้รับรู้ถึงปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการในการกำหนดนโยบายและสนับสนุนให้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการต่อไป
6. ลดจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ติดยาเสพติดลงให้มากที่สุด
7. ผู้ใช้แรงงานทีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสถานประกอบกิจการอันจะทำให้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย
1. สถานประกอบกิจการในข่ายประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 ) ดังนี้
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ดูแล หรืออาศัยสิทธิของเจ้า ของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
สถานีบริการที่บรรจุก๊าซให้แก่ยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำตามกฎกระทรวงที่ออก ตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุดหรือเกสเฮ้าส์
(GUESTHOUSE) ที่ให้ผู้ อื่นเช่า
สถานที่ที่ได้ให้มีการเล่น บิลเลียด สนุ๊กเกอร์ ซึ่งเก็บค่าบริการจากผู้เล่น
โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน
2. สถานประกอบกิจการที่ใช้แรงงานหนัก เช่น กิจการประมง สถานประกอบกิจการขนส่ง
3. สถานประกอบกิจการทั่วไป
วิธีการดำเนินงาน
1. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการกระทรวงแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์การเป็นโรงงานสีขาวภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ไม่มีผู้ค้ายาเสพติด
ไม่มีผู้เสพยาเสพติด
มีกิจกรรมดำรงไว้เป็นโรงงานสีขาวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกลาง
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์โรงงานสีขาวโดยความเห็นชอบของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการกระทรวงแรงงาน (ศอ.รง)
ส่วนภูมิภาค
จังหวัดตั้งคณะทำงานดำเนินการตามหลักเกณฑ์การเป็นโรงงานสีขาวโดยความเห็นชอบของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ในสถานประกอบกิจการกระทรวงแรงงาน (ศอ.รง)
2. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการกระทรวงแรงงาน (ศอ.รง) เสนอรายชชื่อโรงงานสีขาวที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กระทรวงแรงงานมอบเกียรติบัตร
3. กระทรวงแรงงานเสนอรายชื่อโรงงานสีขาวต่อศูนย์ปฏิบัติการยาเสพติดแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อทราบ
4. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างเห็นความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการและเข้าร่วมโครงการ
5. ประสานขอความร่วมมือกระทรวงสาธารณะสุขและกรุงเทพมหานคร ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ใช้ที่ติดยาเสพติดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
6. ประสานสถานประกอบกิจการให้สำรวจตรวจสอบผู้ใช้แรงงานที่ติกยาเสพติดและลงชื่อให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่และอนุญาตให้ลูกจ้างลาหยุด เพื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูโดยจ่ายหรือไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน (ประมาณ 15-20 วัน) เมื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูเรียบร้อยแล้วให้รีบกลับเข้าทำงานตามเดิม
7. สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ประสานส่งผู้ใช้แรงงานที่ติดยาเสพติดไปเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูต่อไป
หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการโรงงานสีขาว
สถานประกอบกิจการจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ 8 ข้อ โดยจะต้องได้คะแนน 80 คะแนน จากคะแนน 100 คะแนน จึงจะเป็นโรงงานสีขาว เกณฑ์พิจารณาโรงงานสีขาว มีดังนี้
1. มีนโยบาย
ให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบกิจการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
ควบคุม สอดส่อง และดูแล ไม่ให้พนักงานของสถานประกอบกิจการหรือบุคคลภายนอกกระทำการหรือมั่วสุมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในหรือบริเวณสถานประกอบกิจการ
พิจารณาคัดเลือกบุคลากรที่ไม่มีพฤติกรรมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเข้าเป็นพนักงาน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้เสพยาเสพติดซึ่งได้รับการบำบัดการติดยาเสพติดและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้วและจัดอบรมพนักงานของตนให้มีความเข้าใจในการป้องกันการใช้ยาเสพติดอย่างสม่ำเสมอ
จัดทำบันทึกประวัติของพนักงานไว้ประจำสถานประกอบกิจการ โดยบันทึกประวัติอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และภูมิลำเนาของพนักงาน
ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในการแจ้งเมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวยาเสพติดหรือให้ข้อมูล ข่าวสาร หรือ พฤติการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยหรื่อควรเชื่อได้ว่าจะกระทำความผิดในสถานประกอบกิจการของตน และอำนวยความสะดวกในการตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
2. มีป้ายหรือประกาศ
เรื่องมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบกิจการจัดให้มีป้ายหรือประกาศเตือนเกี่ยวกับพิษภัยหรืออัตราโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด โดยให้มีความชัดเจน เห็นได้ง่าย และมีข้อความเป็นภาษาไทย ข้อความที่สองจะมีภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาไทยก็ได้ แต่ข้อความภาษาอื่นนั้นต้องมีความหมายตรงกับข้อความภาษาไทย และมีขนาดไม่ใหญ่กว่าข้อความภาษาไทย
3. มีคณะทำงานรับผิดชอบ
ในสถานประกอบการจะต้องมีคำสั่งกำหนดให้มีคณะทำงานที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแล ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าของประกอบกิจการในการดำเนินการโรงงานสีขาว โดยแบ่งออกเป็น
กรณีสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง ไม่ถึง 50 คนให้เจ้าของสถานประกอบกิจการ หรือฝ่ายบริหาร ออกคำสั่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบโรงงานสีขาวจากลูกจ้างทั่วไป
กรณีสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง เกิน 50 คน ขึ้นไป ให้เจ้าของสถานประกอบกิจการ หรือฝ่ายบริหารออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการเป็นคณะทำงานรับผิดชอบโรงงานสีขาวก็ได้
4. มีการให้ความรู้พนักงาน
เจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องมีการดำเนินการพัฒนาบุคลากรในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดประชุม จัดอบรม หรือการส่งเสียงตามสายในช่วงเวลาพัก
5. มีกิจกรรมรณรงค์
เจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องมีการดำเนินกิจกรรม เพื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด เช่น จัดนิทรรศการ การแข่งขันกีฬา ดนตรี การแสดงบนเวที แข่งขันประกวดบทความ เรียงความ ตอบปัญหาต่อต้านยาเสพติด
6. มีการตรวจสุขภาพ
เจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องมีการดำเนินการตรวจสุขภาพ และตรวจปัสสาวะให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยจะเน้นการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเฉพาะกิจ
7. ไม่พบพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
เจ้าของสถานประกอบกิจการ จะต้องดำเนินการให้สถานประกอบกิจการปลอดยาเสพติด โดยไม่เสพ ไม่ค้า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด คือต้องมีการสอดส่องดูแลสังเกตพฤติกรรม การทำงานของพนักงานไม่บ่งบอกหรือชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จากคณะทำงานที่รับผิดชอบ
8. มีกระบวนการตรวจสอบ
เจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องดำเนินการในส่วนรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ 7 ข้อ โดยมีการบันทึกหรือเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อให้คณะทำงานโรงงานสีขาวกรุงเทพมหานครสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
----------------------------------------------------------------